วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ลักษณะของวงจรในแอมป์ที่ดี

การศึกษาถึงลักษณะของวงจรที่ดี ในเพาเวอร์แอมป์ จะสังเกตได้ง่ายๆ อยู่เรื่องหนึ่งคือ เพาเวอร์แอมป์ที่ให้คุณภาพเสียงได้ครบ ตลอดย่านเสียง (20 Hz - 20,000 Hz) นั้น มักจะใช้อุปกรณ์จำพวกรีซิสเตอร์ และคาปาซิเตอร์ ในวงจรขยายน้อยมาก แต่กลับมีทรานซิสเตอร์ อยู่ภายในวงจร เป็นจำนวนมากแทน เพื่อทำหน้าที่ขยายกระแสเสียง เป็นลำดับขั้น จนถึงลำดับสูงสุด ก่อนป้อนออกสู่ภายนอก

ดังนั้นถ้าหากเปิดออกดูภายในเครื่อง แล้วพบว่าในวงจรขยายนั้น ใช้ทั้ง รีซิสเตอร์ และคาปาซิเตอร์ เป็นจำนวนห้าสิบหกสิบตัวละก็ ให้ลองดูตัวอื่น ที่มีรีซิสเตอร์ และคาปาซิเตอร์น้อยกว่า แต่มีทรานซิสเตอร์ตัวเล็กๆ เยอะกว่า

การเลือกใช้เพาเวอร์แอมป์ในระดับบน และมาตรฐาน ถ้าหากเป็นไปได้ ควรเปิดดูลักษณะวงจรภายใน ถ้ามีการใช้รีซิสเตอร์ (R) และคาปาซิเตอร์ (C) จำนวนมากๆ ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า เขาใช้อุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อแก้ไข ปัญหาของวงจร เป็นต้นว่า เพื่อจำกัดกระแสให้ไหลผ่าน ทรานซิสเตอร์ แค่พอเหมาะ (เพราะใช้ทรานซิสเตอร์กระแสต่ำ), เพื่อชดเชย ย่านเสียงที่ขาดหายไปในการขยาย และเพื่อขจัดความเพี้ยน ขณะทำงานของ ทรานซิสเตอร์แต่ละตัว พูดง่ายๆ ก็คือถ้ามีการใช้ทั้ง R และ C มากๆ แสดงว่าวงจรขยายชุดนั้น น่ามีปัญหาทางการขยายเสียงมาก ตามไปด้วย)

การเลือกใช้งาน
ดังที่บอกไปแล้วว่า การแบ่งระดับของเพาเวอร์แอมป์นั้น มักจะแบ่งกันด้วย ขนาดของกำลังขับเป็นหลัก ดังนั้นก่อนที่ท่านจะเลือกใช้ เพาเวอร์แอมป์ติดรถยนต์ ท่านควรจะต้องกำหนดปัจจัยต่างๆ เอาไว้เสียก่อนดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์ว่า จะจัดระบบเสียงเอาไว้อย่างไร ใช้แอมป์กี่แชนแนล
2. กำหนดงบประมาณรวมทั้งหมด ของเพาเวอร์แอมป์ เป็นราคาที่ตั้ง เอาไว้ในใจ
3. กำหนดชื่อสินค้าในใจ 3-4 ยี่ห้อ
4. กำหนดร้านติดตั้งในใจ 3-4 ร้าน ที่ท่านคิดว่าไว้วางใจ ให้ทำการติดตั้งได้
เมื่อได้ข้อกำหนดทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว ท่านก็เริ่มทำการศึกษา เพื่อหาเพาเวอร์แอมป์ ในระบบเสียงรถยนต์ของท่าน ได้ดังต่อไปนี้


ข้อสมมุติต่างๆ อาทิ
1. จะจัดระบบเป็นไบ-แอมป์แซทเทิลไลท์ ซึ่งต้องใช้เพาเวอร์แอมป์ทั้งหมด 6 แชนแนล ซึ่งอาจเป็นเพาเวอร์แอมป์ 4 แชนแนล 1 เครื่อง (ขับกลาง/แหลม หน้า-หลัง) และเพาเวอร์แอมป์ 2 แชนแนล 1 เครื่อง (ขับซับวูฟเฟอร์) โดยมีกำลังขับ เฉลี่ย 50 วัตต์ x 4 และ 100 วัตต์ x 2
2. กำหนดงบประมาณ เฉพาะเพาเวอร์แอมป์ในระบบ ไว้ที่ 27,000 บาท
3. กำหนดยี่ห้อไว้เป็น ANT, BEE, CAT
4. กำหนดร้านไว้เป็น AMOUNT, BEGIN, CLASSIC


ในงบประมาณที่ 27,000 บาทนี้ เราคงจะต้องเลือกใช้แอมป์ขับกลาง/ แหลมหน้า-หลัง ที่เป็นเพาเวอร์แอมป์ 4 แชนแนล นั้นในหมวดสินค้า ระดับมาตรฐาน และใช้งบเพาเวอร์แอมป์ 2 แชนแนล ขับซับวูฟเฟอร์นั้น ในสินค้าระดับบน เพราะความแตกต่างระหว่างสินค้า ที่มีแหล่งผลิตแน่นอน กับสินค้าที่มีแหล่งผลิตไม่แน่นอนนั้น อยู่ที่เรื่องของการให้เสียง ในย่านความถี่กลางถึงต่ำ


หรือถ้าหากยอมได้ ก็ให้เปลี่ยนแปลงระบบนิดหน่อย โดยจัดการ ขับซับวูฟเฟอร์ เป็นแบบโมโนแทน ทำให้สามารถเลือกใช้เพาเวอร์แอมป์ทั้ง 4 แชนแนล และ 2 แชนแนล (ที่จะบริดจ์เป็นโมโนเพิ่มกำลัง) ได้ในหมวดสินค้า ระดับบนทั้งหมด ซึ่งจะให้ผลโดยรวมของเสียง ที่มีคุณภาพกว่า แต่ความดุดันของเสียงเบสนั้น จะน้อยกว่า (เนื่องจาก มันจะกลายเป็น 50 วัตต์ x 4 และ 75 วัตต์ x 2)

การคัดเลือก
ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า เพาเวอร์แอมป์ที่จะให้คุณภาพเสียงได้ดีนั้น วงจรขยายภายในจะต้องใช้อุปกรณ์ จำพวกรีซิสเตอร์ (R) และคาปาซิเตอร์ (C) น้อยมาก ซึ่งท่านคงต้องแยกให้ออกว่า ส่วนไหนเป็นวงจรขยาย และส่วนไหนเป็นวงจรภาคจ่ายไฟ จากนั้นก็ให้คัดเลือก เพาเวอร์แอมป์ 3 ยี่ห้อที่เลือกเอาไว้แล้ว ว่าตัวไหนเข้าข่ายมากกว่ากัน แล้วมาร์คเอาไว้ หรือจำเอาไว้ ซึ่งการคัดเลือกในขั้นตอนนี้ คงต้องขอดูแผ่นวงจรภายในเครื่อง แต่ก็นั่นแหละครับ อาจจะค่อนข้างยุ่งยากอยู่บ้าง คงเก็บเอาไว้ ตอนที่มีนิตยสารเขาลงภาพให้ดูอย่างชัดเจน หรือตอนที่เขามีการ เปิดฝาเครื่องโชว์ ตามงานต่างๆ ก็แล้วกัน


ส่วนเพาเวอร์แอมป์ 3-4 ยี่ห้อที่เลือกเอาไว้นั้น ก็ต้องอยู่ในระดับราคา ประมาณ 15,000 - 16,000 บาท สำหรับแอมป์ 4 แชนแนล (50 วัตต์ x 4) และอยู่ใน ระดับราคา 11,000 - 12,000 บาทสำหรับแอมป์ 2 แชนแนล (75 วัตต์ x 2) เท่าๆ กัน เหลื่อมล้ำกันได้นิดหน่อย เพื่อให้ลงในงบของเราได้พอดี ไม่เกินไปมากนัก

การทดลองฟัง
โดยทั่วๆ ไปนั้น เวลาที่ท่านทดลองฟัง คุณภาพเสียงของเพาเวอร์แอมป์ ที่จะนำมาใช้ขับลำโพงกลาง/แหลม ท่านก็มักจะแค่ลองฟัง ด้วยชุดลำโพงกลาง/แหลมแยกชิ้น หรือถ้าจะนำไปใช้ขับซับวูฟเฟอร์ ก็จะลองฟัง ด้วยชุดซับวูฟเฟอร์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การลองฟังเสียง ของเพาเวอร์แอมป์แต่ละตัว เพื่อเปรียบเทียบ ควรลองฟังกับซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 หรือ 12 นิ้ว ประกอบไปด้วย หรือถ้าหากมีเวลาเร่งรัด แม้จะเป็นการเลือก เพาเวอร์แอมป์ เพื่อขับเสียงกลาง/แหลมก็ตาม ควรลองฟังเสียงจาก การขับซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 หรือ 12 นิ้ว เพราะอะไรน่ะหรือครับ.....


โดยทั่วไปเพาเวอร์แอมป์ในประเภทเดียวกัน ทั้งแบบมีแหล่งผลิตแน่นอน หรือแบบมีแหล่งผลิตไม่แน่นอน มักจะให้ประสิทธิภาพทางเสียง ในย่านเสียงกลางถึงย่านเสียงแหลม ได้ใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกัน อย่างเห็นได้ชัด ก็เรื่องประสิทธิภาพทางเสียง ในย่านเสียงต่ำถึงต่ำลึก ซึ่งถ้าแค่ฟังเสียงกลางต่ำถึงแหลมอย่างเดียว อาจทำให้เราตัดสินใจได้ยาก (และมึนงงจับทางได้ยาก) การตัดสินด้วยการขับเสียงย่านต่ำลึก ทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายกว่า ทั้งยังให้ผลตามมา ในแง่ที่เมื่อเรานำไปขับ ชุดลำโพงกลาง/แหลม มันจะให้เสียงในย่านเสียงต่ำที่ดีได้อีกด้วย


ดังนั้นหากมีเวลาเพียงน้อยนิด ที่จะใช้ในการตัดสินใจเลือกเพาเวอร์แอมป์ คุณต้องใช้การตัดสินใจ จากการลองฟังเพาเวอร์แอมป์นั้น ขับซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวกัน แล้วเลือกเอาว่าตัวไหน ให้เสียงย่านต่ำลึก ได้ครบที่สุด... เลือกตัวนั้น (หมายถึงระดับราคาเดียวกัน, ประเภทเดียวกัน) แม้ว่าเราจะใช้มัน เพื่อขับชุดลำโพงกลางแหลมแยกชิ้น ก็ตามที


ในขอบเขตย่านเสียงจาก 20 Hz - 20,000 Hz นั้น ช่วงย่านความถี่จาก 20 Hz - 60 Hz จะเป็นช่วงที่ยากที่สุด ในการออกแบบเพาเวอร์แอมป์ ให้ตอบสนองในย่านนี้ได้ครบถ้วน เพราะมันต้องอาศัย การให้กระแสเสียง ที่เพียงพอ และมีระดับเสียงที่เหนือกว่า เสียงในย่าน 60 Hz - 20,000 Hz เล็กน้อย เพื่อผลทางการได้ยิน เมื่อนำไปใช้งานจริง ดังนั้นในเพาเวอร์แอมป์ บางเครื่อง (โดยเฉพาะมีแหล่งผลิตไม่แน่นอน) มักใช้วงจร R/C ในการลดระดับเสียง ในย่าน 60 Hz - 20,000 Hz ลงไปอีก 6 dB เพื่อให้เสมอกับย่านความถี่ 60 Hz ลงไป หรือไม่ก็พยายามใช้วงจร R/C ช่วยบูสท์เพิ่มเสียง ในย่านความถี่ 20 Hz - 60 Hz ขึ้นมาให้เสมอกับย่าน 60 Hz ขึ้นไป ซึ่งอาจมีปัญหาต่อเนื่อ ในเรื่องที่เรานำเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น ไปขับซับวูฟเฟอร์ แล้วปรับเสียงเบสที่ตัววิทยุเพิ่ม ก็จะเกิดการโอเวอร์บูสท์ ที่ย่านความถี่ต่ำขึ้น ผลก็คือ มีการตัดยอดคลื่นที่ย่านความถี่ต่ำทิ้ง ทำให้ได้ยินเสียงเบสที่กลวงๆ ไม่เต็มลูก


อย่าให้ผู้ขายหลอกคุณ ด้วยการใช้ลองฟังกับชุดลำโพงกลาง/แหลม ขนาด 4 หรือ 5 นิ้ว เพราะลำโพงพวกนี้ มีขอบเขตการตอบสนองความถี่อย่างเก่ง ก็แค่ 40 - 50 Hz ซึ่งมันไม่สามารถชี้ชัดลงไป ในด้านประสิทธิภาพทางเสียง ของเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะบอกแล้วว่า เพาเวอร์แอมป์บางตัว หลอกเพิ่มเสียงในย่าน 50 - 60 Hz เอาไว้เวลา ฟังเทียบแล้ว จะมีความรู้สึกว่าแอมป์ตัวที่เพิ่มเสียงนั้น เบสดีกว่า (ก็โดนหลอก)


ถ้าจะให้ได้ผลกันจริงๆ มันต้องใช้ลองฟังกับ ชุดลำโพงกลาง/แหลม 3 ทางแยกชิ้น ที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 8 หรือ 10 นิ้ว, มิดเรนจ์ขนาด 4 หรือ 5 นิ้ว และทวีตเตอร์นั่นละ ถึงจะสามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า เพาเวอร์แอมป์ตัวไหน ให้ประสิทธิภาพทางเสียงได้ดีกว่ากัน เพราะชุดแยกชิ้น 3 ทางนั้น โดยทั่วไปสามารถให้เสียงย่านต่ำลึก ได้ถึงประมาณ 28 Hz เมื่อบรรจุในตู้ปริมาตรที่ถูกต้อง

การรู้ขนาดกำลังขับที่แท้จริง
ในปัจจุบันนี้ เพาเวอร์แอมป์ในแบบมีแหล่งผลิตไม่แน่นอนนั้น มักจะใช้การบอก ตัวเลขค่ากำลังขับที่ เป็นหน่วยวัด PMPO บ้าง, หน่วยวัดแบบ PEAK บ้าง ทำให้บางครั้ง เราจึงเห็นเพาเวอร์แอมป์ตัวเขื่องๆ บางตัว บอกกำลังวัตต์เอาไว้ถึง 400 กว่าวัตต์ (ซึ่งเอาเข้าจริง เหลือแค่ 50 วัตต์ หรือ 50 วัตต์ x 2 เท่านั้นเอง) ซึ่งก็มีสภาพไม่ผิดอะไรกับ การโดนหลอกเต็มๆ


กำลังขับที่ใช้กันในเรื่องของระบบเสียงนั้น เราจะยึดหลักในหน่วยที่เป็น RMS ซึ่งเป็นกำลังวัตต์ที่ใช้ในการขับเสียงตลอดย่าน 20 Hz - 20,000 Hz ที่ไม่เหมือนกับหน่วยที่เป็น PMPO ที่วัดเฉพาะตอนที่เสียงใดเสียงหนึ่ง พุ่งขึ้นสูงสุดเท่านั้น (ส่วนมากเป็นช่วง 1 kHz)


ในการหากำลังขับที่แท้จริง หรือกำลังขับต่อเนื่อง (RMS) นั้น โดยทั่วไป เราจะใช้เครื่องมือวัด RMS เข้ามาทำหน้าที่ตรวจวัด แต่ในการเลือกใช้ เพาเวอร์แอมป์ติดรถยนต์ ของผู้ใช้ทั่วไป คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก หากจะนำเอา เครื่องตรวจวัดนี้ไปใช้ เราจึงขอแนะวิธีในการสังเกต หากำลังวัตต์ที่แท้จริง ของเพาเวอร์แอมป์ แต่ละตัวว่า จริงตามที่บ่งบอกเอาไว้บนตัวเครื่องหรือไม่

วิธีสังเกต
โดยปกติเพาเวอร์แอมป์ในแบบมีแหล่งผลิตไม่แน่นอน มักจะมีการติดตั้ง ตลับฟิวส์ เอาไว้ที่ตัวเครื่องเพื่อป้องกันความเสียหาย ส่วนถ้าเป็นแอมป์แบบ มีแหล่งผลิตแน่นอน จะมีกระบอกฟิวส์แยกไว้ให้ ที่สายไฟเลี้ยง ที่แถมมากับเครื่อง


วิธีสังเกตว่ากำลังขับที่แท้จริงของเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น เป็นเท่าไหร่นั้น ให้ดูที่ลูกฟิวส์ที่ใช้อยู่ ข้างตัวเครื่องในอัตรากำลังขับ/ขนาดฟิวส์ที่บอกเอาไว้ ในส่วนถัดไป ซึ่งเป็นอัตรากำลังขับ/ขนาดฟิวส์ 1 ลูก ถ้าในเพาเวอร์แอมป์ ตัวใด ใช้ฟิวส์ 2 ลูก ก็แสดงว่า มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า


ตัวอย่างเช่น เพาเวอร์แอมป์ยี่ห้อ A ขนาด 150 วัตต์ x 2 ใช้ฟิวส์ขนาด 30 แอมป์ 2 ลูก ก็แสดงว่าใช้ภาคจ่ายไฟแยกชุดซ้าย/ชุดขวา ได้กำลังขับเฉลี่ยที่ 125 วัตต์ x 2 (RMS) (แชนแนลละ 125 วัตต์ นั่นเอง เพราะใช้ฟิวส์ขนาด 30 A)


ส่วนเพาเวอร์แอมป์ยี่ห้อ B ขนาด 150 วัตต์ x 2 เหมือนกัน แต่ใช้ฟิวส์ขนาด 25 แอมป์เพียงลูกเดียว ก็แสดงว่าใช้ภาคจ่ายไฟร่วม ซ้าย/ขวาชุดเดียวกัน ได้กำลังขับเฉลี่ยจริงๆ ที่ 50 วัตต์ x 2 (RMS) เท่านั้น (ได้เสียงรวม 100 วัตต์ จากการใช้ฟิวส์ 25 A)


สำหรับตารางบอก อัตรากำลังขับ (RMS)/ขนาดฟิวส์ นั้นมีดังต่อไปนี้


กำลังวัตต์ (RMS) ขนาดฟิวส์
50W or 25W x 2 12.5 A
100W or 50W x 2  25.0 A
150W or 75W x 2 35.0 A
200W or 100W x 2 50.0 A
250W or 125W x 2 65.0 A
300W or 150W x 2 75.0 A
400W or 200W x 2 100.0 A
500W or 250W x 2 125.0 A
600W or 300W x 2  150.0 A

บทสรุป
สนนราคาค่าตัวของเพาเวอร์แอมป์ ที่มีแหล่งผลิตแน่นอน กับเพาเวอร์แอมป์ ที่มีแหล่งผลิตไม่แน่นอนนั้น โดยทั่วไป มีระดับราคาต่างกันประมาณ 50-100% ดังนั้น เพื่อป้องกันการโดนหลอก ในการเลือกซื้อเพาเวอร์แอมป์ ที่มีราคาสูงเกินจริง ให้ศึกษาเสียก่อนว่า เพาเวอร์แอมป์ยี่ห้อนั้น มีแหล่งผลิต แน่นอน หรือมีโรงงานจริงหรือเปล่า ถ้าตั้งชื่อขึ้นเอง แล้วจ้างโรงงานประกอบ มันก็ไม่น่าจะมีราคาค่าตัว ที่สูงเกินไปนัก เมื่อเทียบกับเพาเวอร์แอมป์ ที่มีแหล่งผลิตไม่แน่นอน ด้วยกันในตลาด แม้ว่าจะมีคุณภาพเสียงทีดี เมื่อฟังเปรียบเทียบกันแล้ว ก็ควรแพงกว่ากัน ไม่เกิน 25-50% ไม่เช่นนั้น หันไปเล่นเพาเวอร์แอมป์ ที่มีแหล่งผลิตแน่นอน ดีกว่า


การเลือกใช้เพาเวอร์แอมป์ติดรถยนต์นั้น ว่าไปจริงๆ แล้วง่ายกว่า การเลือกใช้ วิทยุ/ เทปหรือวิทยุ/ ซีดีเสียอีก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐาน ในการตัดสินที่เห็น เป็นรูปธรรม มากกว่านั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดี มีสาระ ใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย
    ให้ความรู้แก่ผู้พื้นฐานน้อยอย่างผมได้เป็นอย่างดีทีเดียว
    ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ